เกิดอะไรขึ้นในการยกพลขึ้นบก ที่นอร์มังดี ฝรั่งเศส ปี 1944

ดีเดย์ : เกิดอะไรขึ้นในการยกพลขึ้นบก ที่นอร์มังดี ฝรั่งเศส ปี 1944



งานรำลึกครบรอบ 75 ปี ของวันดีเดย์ (D-Day) หรือการยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในสัปดาห์นี้

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง แห่งสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ รวมทั้งผู้นำอีกหลายประเทศเดินทางไปร่วมพิธีรำลึกวันแห่งประวัติศาสตร์นี้ที่เมืองพอร์ตสมัธของอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่เรือรบหลายลำเริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติการยกพลขึ้นบก

เหตุใดวันดีเดย์จึงมีความสำคัญและเกิดอะไรขึ้นในวันนี้เมื่อ 75 ปีก่อน

วันดีเดย์ : อดีตทหารสัมพันธมิตรร่วมรำลึกเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ฝรั่งเศส เมื่อ 75 ปีก่อน
สงครามโลกครั้งที่ 1 : ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้กำกับ Lord of the Rings ชุบชีวิตหนังขาวดำอายุร้อยปี
เกิดอะไรขึ้นที่ดันเคิร์ก?
วันดีเดย์ คืออะไร
กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรจากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ชายฝั่งตอนเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ปี ค.ศ. 1944



มันคือปฏิบัติการร่วมของทหารเรือ ทหารบก และทหารอากาศ ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อเริ่มต้นยุทธการปลดปล่อยประเทศในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตกให้หลุดพ้นจากการยึดครองของกองทัพนาซี
หลังจากวางแผนมานานกว่า 1 ปี วันดีเดย์ซึ่งเดิมกำหนดจะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 5 มิ.ย. 1944 เพราะคาดว่าเป็นวันที่สภาพดินฟ้าอากาศเป็นใจ ทั้งท้องทะเลที่สงบ พระจันทร์เต็มดวง และระดับน้ำทะเลต่ำในช่วงเช้าตรู่ แต่พายุที่เกิดขึ้นทำให้ปฏิบัติการต้องล่าช้าไป 24 ชม. เป็นวันที่ 6 มิ.ย.

วันดีเดย์ เป็นปฏิบัติการยกพลขึ้นบกของทหารฝ่ายสัมพันธมิตรหลายหมื่นนายที่ชายหาด 5 แห่งของอ่าวนอร์มังดี



เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น
เครื่องบินรบของฝ่ายสัมพันธมิตรส่งทหารหน่วยพลร่มกระโดดลงไปด้านหลังแนวรบของนาซีในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 6 มิ.ย. เล็กน้อย ขณะที่เรืออีกหลายพันลำเคลื่อนไปที่นอกชายฝั่งแคว้นนอร์มังดี เพื่อเตรียมโจมตี

แม้จะคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีการโจมตี แต่ผู้นำกองทัพเยอรมันเชื่อว่ามันเป็นเพียงการโจมตีขั้นต้น และเป็นกลยุทธ์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเท่านั้น

ครบรอบ 100 ปี สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1: ย้อนรอยการเลือกข้างเพื่อความอยู่รอด
ทหารอินเดียในสงครามโลกครั้งที่ 1
องค์ประกอบในแผนการรบที่ฝ่ายศัตรูคาดไม่ถึงช่วยให้ทหารอังกฤษยกพลขึ้นบกได้สำเร็จที่หาดแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อรหัสว่า "โกลด์"

นอกจากนี้ กองทัพแคนาดาก็สามารถยกพลขึ้นบกได้สำเร็จที่ชายหาดอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อรหัสว่า "จูโน" ขณะที่ทหารอังกฤษยึดหาด "ซอร์ด" ได้




ส่วนทหารอเมริกันสามารถยกพลขึ้นบกที่หาด "ยูทาห์" ได้สำเร็จโดยที่ไม่มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

แต่ที่หาดใกล้เคียงคือ "โอมาฮา" นั้น กองทัพอเมริกันต้องสูญเสียกำลังพลอย่างหนัก
แผนภาพด้านบนแสดงให้เห็นการเริ่มภารกิจหลังเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 6 มิ.ย.เล็กน้อย กองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ และอังกฤษ 3 กอง จำนวนกว่า 23,000 นาย กระโดดลงขนาบข้างหาดต่าง ๆ ขณะที่กองเรือรบ เคลื่อนไปรวมกันยังตำแหน่งในช่องแคบอังกฤษที่เรียกว่า "พิคคาดิลลี เซอร์คัส" (Piccadilly Circus)แผนภาพแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เวลา 06:30 น. กองพลจู่โจม 5 ชุดแรกถูกส่งขึ้นหาด โดยมีเรือรบคอยระดมยิงปืนใหญ่สนับสนุน
การยกพลขึ้นบกของกองกำลังสัมพันธมิตรดำเนินไปตลอดทั้งวัน จนกระทั่งเวลาเที่ยงคืนของวันถัดมา ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยึดหัวหาดได้สำเร็จ แล้วเคลื่อนพลรุกคืบไปจากหาด โกลด์ จูโน ซอร์ด และยูทาห์

มีกำลังพลเข้าร่วมเท่าใด
ยุทธการนี้ใช้เรือถึง 7,000 ลำ ลำเลียงกำลังพล 156,000 นาย และยานพาหนะ 10,000 คัน ไปยังหาดทั้ง 5 แห่งตามแนวชายฝั่งนอร์มังดี



การยกพลขึ้นบกคงจะเป็นไปไม่ได้หากไม่มีการสนับสนุนครั้งใหญ่ของกองกำลังทางอากาศและทางเรือ ซึ่งมีความแข็งแกร่งกว่าฝ่ายทหารเยอรมันหลายเท่า
อย่างไรก็ตาม ในวันดีเดย์เพียงวันเดียว ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องสูญเสียกำลังพลไป 4,400 นาย ขณะที่อีก 9,000 นายได้รับบาดเจ็บหรือสูญหาย

ส่วนตัวเลขการสูญเสียของฝ่ายทหารเยอรมันนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 4,000 - 9,000 นาย

นอกจากนี้ ยังมีพลเรือนฝรั่งเศสเสียชีวิตไปอีกหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการระดมทิ้งระเบิดโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร

เกิดอะไรขึ้นหลังจากวันดีเดย์
แม้ว่าจะยกพลขึ้นบกได้สำเร็จในวันเดียวกันนั้น แต่ทหารสัมพันธมิตรก็เสี่ยงถูกฝ่ายนาซีผลักดันกลับลงทะเลอยู่ระยะหนึ่ง



พวกเขาต้องพยายามเสริมกำลังพลให้รวดเร็วกว่ากองทัพนาซี

ทว่าการรุกคืบไปตามถนนที่คับแคบและการต้านทานตามเมืองต่าง ๆ ในแคว้นนอร์มังดี ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

แต่กำลังพลที่มากกว่า และการสนับสนุนทางอากาศที่เหนือกว่านั้น ช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาชัยชนะมาได้ แม้ต้องสูญเสียอย่างหนัก

เมื่อถึงตอนที่ปลดปล่อยกรุงปารีสได้สำเร็จ ช่วงปลายเดือน ส.ค.1944 ราว 10% ของทหารสัมพันธมิตร 2 ล้านนายในสมรภูมิที่ฝรั่งเศส ต้องสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือสูญหาย