Da 5 Bloods



 หากเอ่ยถึงชื่อผู้กำกับผิวดำระดับแถวหน้าที่ยังยืนหยัดทำหนังสะท้อนชีวิตและวัฒนธรรมของคนผิวดำ แอฟริกัน-อเมริกัน ชื่อ สไปค์ ลี น่าจะถูกยกมาเป็นลำดับต้นๆ ด้วยผลงานเด่นๆ ช่วงระหว่างยุคปลายทศวรรษที่ 80s – ต้นทศวรรษ 90s ไม่ว่าจะเป็น Do The Right Thing(1989), หรือ Malcolm X(1992)


แม้จะมีผลงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ชื่อของเขาก็เงียบหายไปจากวงการหนังบ้างในช่วงสิบปีมานี้ อาจเพราะบางช่วงการเป็นหนังที่ดูเหมือนเฉพาะกลุ่ม บ่อยครั้งลีก็หันเหไปทำภาพยนตร์สารคดีแทนที่ พร้อมๆ กับที่ขณะเดียวกันก็รับงานหนังตลาดในฮอลลีวู้ด Inside Man(2006) ไปจนถึงหนังที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนผิวดำ แต่สะท้อนสังคมอเมริกาอย่าง 25th Hour(2002) จนกลับมาสร้างชื่อได้อีกครั้งกับ BlacKkKlansman(2018) หนังที่ว่าด้วยตำรวจผิวดำซึ่งไปแฝงตัวในองค์กรเหยียดเชื้อชาติคูคลักซ์แคลน ที่สามารถคว้ารางวัลกรังปรีซ์จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเข้าชิงออสการ์ 6 สาขารางวัล ก่อนจะคว้ารางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงมาครองได้ และยังเป็นหนังทำเงินอีกด้วย


จุดเด่นที่เห็นได้ชัดในงานของลีนอกเหนือจากการนำเสนอปัญหาในสังคมคนผิวดำในอเมริกา ที่ไม่ใช่แค่การถูกเหยียดผิว สิทธิอันไม่เท่าเทียมแบบคนผิวขาว แต่ยังสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำด้วยกันเองซึ่งเรื้อรังสั่งสมมานาน และแสดงให้เห็นภาพที่เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อ มีความดีเลว เปราะบางในตัวละครที่เขาเล่า ต่างไปจากหนังสะท้อนปัญหาการเหยียดผิวที่กำกับโดยผู้กำกับผิวขาว นอกจากนี้เขายังพยายามทำหนังเล่าเรื่องหลายๆ แบบตั้งแต่หนังชีวประวัติเข้มข้น(), หนังตลก(She’s Gotta Have It – 1986), หนังรัก(Jungle Fever – 1991), หนังทริลเลอร์(Inside Man), หนังย้อนยุค() หรือหนังเกี่ยวกับนักดนตรี(Mo’ Better Blues -1990) ที่แสดงให้เห็นความรักในศิลปะภาพยนตร์อย่างรอบด้านของเขาอีกด้วย


Da 5 Bloods ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดย Netflix ยังคงเป็นงานที่แสดงความพยายามขยับขยายให้เรื่องของคนผิวดำถูกเล่าผ่านหนังสงครามเขย่าขวัญ ซึ่งปกติแทบจะเป็นตัวประกอบของหนังตระกูลนี้ อีกทั้งยังเปี่ยมความทะเยอทะยานเช่นเดียวกับ BlacKkKlansman ที่จับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกามาเล่าใหม่ในมุมมองคนผิวดำ โดยขับเน้นที่ยุคสงครามเวียดนาม ตัวหนังเคยถูกรับเชิญให้ได้ฉายอย่างเป็นทางการในนอกสายการประกวด(Out of Competition) ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ประจำปี ค.ศ.2020 หากในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เทศกาลต้องยกเลิกไป แต่ไมว่าอย่างไรด้วยกฎใหม่เฉพาะกาลของออสการ์ปีนี้ โดยอนุญาตให้ภาพยนตร์ที่ฉายออนไลน์หรือฉายในรูปแบบดิจิตอลโดยไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้รับสิทธิ์ให้เข้าประกวดด้วยได้ คาดว่าตัวหนังจะมีบทบาทสำคัญในช่วงปลายปีอยู่บ้างโดยเฉพาะการที่หนังเชื่อมโยงกับขบวนการ Black Lives Matter ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในปีนี้ที่อเมริกา แม้ว่าตัวหนังจะค่อนข้างเล่นประเด็นที่หนักหน่วงเกินขนบที่เราคุ้นชิน (รวมถึงขนบหนังรางวัลออสการ์ด้วย)


เรื่องน่าสนใจคือเดิมทีนี่เป็นบทที่เขียนตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 ในชื่อ The Last Tour โดย แดนนี่ บิลสัน และ พอล เดอ มีโอ ตั้งใจจะให้ โอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับที่คร่ำหวอดกับการทำหนังสงครามเวียดนามมากำกับ แต่เขากลับวางมือกับโปรเจ็คท์นี้ในปี 2016 ลี และเควิน วิลมอตต์ที่เพิ่งทำ BlacKkKlansman เสร็จจึงเปลี่ยนบทเรื่องนี้ใหม่ให้กลายเป็นมุมมองของคนผิวดำเสีย


ซึ่งหากได้ชมตัวอย่างหนังอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงระหว่างสงครามเวียดนามและหลังจากนั้นไม่นาน เนื่องจากตัวอย่างเน้นภาพในอดีต และฉากต่อสู้ จนอาจเข้าใจว่านี่เป็นหนังสงครามเวียดนาม แต่แท้จริงเรื่องราวส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และเป็นหนังทริลเลอร์ว่าด้วยการตามหาทองในเวียดนาม คล้ายกับหนังคลาสสิคอย่าง The Treasure of the Sierra Madre(1948) ที่เปลี่ยนฉากหลังเป็นเวียดนามแทนที่


หนังเริ่มต้นหลังจากเล่าประวัติศาสตร์คนผิวดำในเวียดนามที่ไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่นัก ก่อนจะตัดมาสู่ยุคปัจจุบัน เพื่อนสี่คนที่เคยอยู่หมู่บลัดร่วมกัน ร่วมรบในสงครามเวียดนาม ได้แก่ พอล(เดลรอย ลินโด), เอ็ดดี้(นอร์ม ลูอิส) , โอทิส(คลาร์ก ปีเตอร์), และเมลวิน(อิไซอาห์ วิท์ล็อค จูเนียร์) ได้เจอกันอีกครั้งที่นี่ หากวัตถุประสงค์ไม่ใช่การมาเที่ยว แต่เป็นการมาตามหาทองจำนวนมหาศาล ที่เป็นภารกิจในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งพวกเขาตั้งใจจะเก็บเอาไปตั้งแต่ในตอนนั้น หากเกิดอุบัติเหตุจนสมบัติสูญหายเสียก่อน พร้อมๆ กับการเก็บร่างของผู้นำหมู่นอร์แมน(แชดวิก บอสแมน) ซึ่งเป็นทั้งผู้นำการต่อสู้ และด้านอุดมการณ์ทางความคิด ถ่ายทอดให้พวกเขาเห็นถึงความไม่ยุติธรรม และหลอกลวงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จะไม่มีวันแก้ปัญหาคนผิวดำดังที่เคยสัญญาเอาไว้


สิ่งหนึ่งที่พบจากหนังความยาวถึง 155 นาทีเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า หนังใช้เวลาปูเรื่องค่อนข้างนานเกินไป หนังสะท้อนให้เห็นปัญหาของตัวละครทั้งสี่คน รวมถึงสอดแทรกประวัติศาสตร์ของคนผิวดำที่ถูกลืมในสงครามเวียดนาม และช่วงเวลาดังกล่าวเข้ามาเป็นระยะ โดยไม่ใช้แค่การอ้างถึงลอยๆ สไปค์ ลี จงใจด้วยการแทรกภาพนิ่งบุคคลที่ถูกอ้าง และภาพเหตุการณ์จากสงคราม ซึ่งหลายภาพก็ชวนสยดสยองอย่างยิ่งตั้งแต่ต้นจนทำให้ใครที่เข้าใจว่าเป็นหนังสงครามที่มีฉากแอ๊คชั่นเร้าใจก็คงเบือนหน้าทันที


ขณะเดียวกันนอกจากคนดูเองจะไม่ได้เห็นงานสร้างที่แปลกใหม่ ตัวหนังเองในช่วงต้นก็มีปัญหาการเกรดสีอย่างเห็นได้ชัด ผู้กำกับจงใจให้ภาพในอดีตซึ่งเป็นโทนเขียวแตกพร่าคล้ายกับการถ่ายด้วยฟิล์มภาพยนตร์ในสัดส่วนการฉายแบบหนังยุคก่อนนั่นคือ 1.33 : 1 ตัดกับภาพปัจจุบันที่มีสัดส่วนภาพต่างกันก็จริง รวมไปถึงยั่วล้อการตัดต่อแบบหนังยุคนั้นเข้ามาใช้ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าหนังทำตรงจุดนี้ไม่กลมกลืนลงตัวนัก ใส่เสียงดนตรีประกอบโหมประโคมในลักษณะสดุดีทหารกล้า


มิหนำซ้ำระหว่างปูตัวละครระหว่างที่ทั้งสี่พักผ่อน ท่องเที่ยว โดยมีเค้าลางที่ไม่ค่อยดีปรากฎเป็นระยะ พอล มีอาการ PTSD(ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง) ตั้งแต่หลังการตายของนอร์แมน, เอ็ดดี้ ที่หลายคนมองว่าทำธุรกิจร่ำรวย ก็ไม่ได้มีเงินอย่างที่คิด, โอทิส หมกมุ่นกับความรักอดีตโสเภณีเวียดนาม, ขณะที่เมลวิน เมื่อเหล้าเข้าปากก็เริ่มพูดไม่หยุดถึงเรื่องทองคำ


ช่วงครึ่งแรกยังมีการแทรกตัวละครใหม่ๆ เข้ามาแบบชวนตะหงิดอย่างลูกชายของพอล นักแสดงหลักส่วนใหญ่ก็เน้นแสดงกันแบบล้นๆ เกินๆ พูดกันไม่หยุด แบบที่เรามักพบในการแสดงของนักแสดงผิวดำ


อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่พวกเขาเดินทางจนพบทองคำ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปราวกับหนังคนละม้วน กลายเป็นหนังทริลเลอร์ที่ลุ้นระทึก มีลีลาเฉพาะตัวที่มีเหตุการณ์คาดเดาไม่ได้ตลอดเวลา ฉากระเบิด และถูกยิงให้อารมณ์ราวกับหนังสยองขวัญเลือดสาด


เดลรอย ลินโด โดดเด่นสุดในบรรดานักแสดงทั้งหมด เขาให้การแสดงอันน่าทึ่งในบท พอล อดีตทหารผ่านศึกที่มีอาการ PTSD ได้อย่างชวนหลอน และคาดเดาอารมณ์จากตัวละครนี้ไม่ได้เลย เขาเล่นตอบโต้ด้วยสีหน้าที่สะท้อนความเศร้า ความโลภ และอาการหลุดโลก ชวนฉงนสงสัยต่อผลที่ตนได้รับ และยังมีฉากที่หันมาคุยกับกล้องที่บ่งชี้ถึงอาการป่วยของตนอีกด้วย


แท้จริงภาพการต่อสู้ในสงครามครั้งอดีตอันสวยงามเป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ที่ตายไปจากพวกเขาแล้วผ่านตัวละครอย่างนอร์แมน หากปัจจุบันกลับเหลือเพียงบาดแผลติดตัวแต่ละคนมากน้อยแตกต่างกันไป เวียดนามกลายเป็นเมืองเจริญที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมใหม่ๆ จากอเมริกาที่หลั่งไหลเข้ามา แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังเกลียดชังคนอเมริกัน รวมถึงคนผิวดำอย่างไม่อาจเลือนหายได้โดยง่าย เช่นเดียวกับพวกเขาคนผิวดำที่เป็นทหารที่ไปรบจำนวนสัดส่วนมากกว่าปกติ แต่กลับแทบไม่เคยได้รับการจดจำ และถูกหลงลืมเช่นนอร์แมน


เห็นได้ชัดว่าผู้กำกับลี มีเจตนาให้การค้นหาทองครั้งนี้ไม่ต่างจากการเดินทางเข้าป่าเพื่อตามหาพันเอกวอลเทอร์ อี.เคิร์ทซ์ ใน Apocalypse Now(1979) เสมือนเป็นการคารวะและตีความหนังสงครามเวียดนามคลาสสิคเรื่องนั้น ด้วยการเสียดเย้ยว่าแม้เวลาจะผ่านไปร่องรอยบาดแผล ความฉิบหายที่อเมริกาทิ้งไว้ที่นี่ก็ยังคงอยู่ ทั้งชื่อหนังเรื่องดังกล่าวที่ถูกเอามาตั้งเป็นชื่อผับ หรือการยึดครองผ่านลัทธิทุนนิยมจากร้านฟาสต์ฟู้ดในเมือง รวมไปถึง “กับระเบิด” ที่เสมือนอาวุธสงครามที่ฝังซ่อนไว้ในป่าค้นหาได้ไม่หมดจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันยิ่งการเดินทางลึกเข้าไปพวกเขาก็พบกับด้านมืดของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น


สงครามไม่เคยให้บทเรียนใดๆ นอกจากความสูญเสีย และแน่นอนว่ารวมถึงการบ่มเพาะความเกลียดชังในเชื้อชาติ ซึ่งตัวหนังเองก็นำประเด็นดังกล่าวต่อยอดไปสู่ขบวนการ Black Lives Matter ในคนรุ่นต่อไป


แม้จะเสียดายอยู่บ้างที่ตัวหนังเลือกจะไม่เน้นความมืดมนไร้ทางออก มีฉากให้ตัวละครหาทางรอดอย่างไม่ค่อยน่าเชื่อนัก แต่ก็ต้องนับว่า Da 5 Bloods เป็นส่วนผสมที่น่าสนใจยิ่งจาก สไปค์ ลี

ความคิดเห็น